ประวัติ และ เนื้อเรื่องที่เปลี่ยนไป ของ หนูน้อยหมวกแดง

ที่มาของนิทานเรื่องนี้นั้น เป็นเรื่องที่เล่าปากต่อปาก แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศในยุโรป ซึ่งคาดว่าเป็นก่อนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และเนื้อเรื่องที่ปรากฏ ก็มีหลายฉบับด้วยกัน ซึ่งแตกต่างจากฉบับที่เป็นที่รู้จักและแพร่หลายในปัจจุบัน

ใน La finta nonna ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ของอิตาลีนั้น หนูน้อยได้ใช้ความกะล่อนของเธอ เอาชนะหมาป่าด้วยตัวเธอเอง โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจาก เพศชาย หรือ เพศชายที่มีอายุมากกว่า ซึ่งในภายหลังนั้นได้มีการเพิ่มตัวละครเพศชายเพื่อลดบทบาทของหนูน้อยซึ่งเป็นเพศหญิงลงไป โดยแสดงให้เห็นว่าเพศหญิงนั้น ยังต้องการความช่วยเหลือปกป้องจากเพศชายซึ่งแข็งแรงกว่า ซึ่งในเนื้อเรื่อง ก็คือคนตัดไม้นั่นเอง

Le Petit Chaperon Rouge เท่าที่ทราบโดยทั่วไป เป็นฉบับแรกสุดที่ได้รับการตีพิมพ์จากเนื้อเรื่องนิทานพื้นบ้านของฝรั่งเศส โดยเนื้อเรื่องนั้น ได้ถูกพิมพ์ในหนังสือ Histoires et contes du temps passé, avec des moralités. Contes de ma mère l'Oye ในปี ค.ศ. 1697 ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวม นิทานและเรื่องเล่าต่าง ๆ พร้อมคติสอนใจ โดย ชาร์ลส แปร์โรลต์ (Charles Perrault) เนื้อเรื่องของฉบับนี้[1] จะค่อนข้างรุนแรง เนื่องมาจากความพยายามเน้น ถึงคติสอนใจต่าง ๆ โดยตอนจบของเรื่องนี้ ทั้งคุณยายและหนูน้อยถูกหมาป่าจับกิน คติสอนใจที่ชาร์ลส แปร์โรลต์ ได้ให้ไว้สำหรับเรื่องนี้ ก็คือ เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กสาว ไม่ควรไว้ใจฟังคำพูดของคนแปลกหน้า และสำหรับหมาป่านั้น แม้เราจะเลี้ยงดูให้อาหาร แต่ก็ยังคงเป็นหมาป่าซึ่งเลี้ยงไม่เชื่อง โดยปกติแล้ว หมาป่าจะต้องเป็นสัตว์ที่มีนิสัยดุร้าย แต่หมาป่าประเภทที่ดูเชื่อง และใจดี นั้นกลับน่ากลัวยิ่งกว่า

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เรื่องนี้ในฉบับภาษาเยอรมัน ถูกบอกเล่าให้แก่ พี่น้องตระกูลกริมม์ โดยคนพี่ (เจค็อบ กริมม์) ฟังมาจาก Jeanette Hassenpflug (ค.ศ. 1791-1860) ส่วนคนน้อง (วิลเฮล์ม กริมม์) ฟังมาจาก Marie Hassenpflug (ค.ศ. 1788-1856) พี่น้องทั้งสอง ได้รวมเนื้อเรื่องจากทั้งสองฉบับนั้น เป็นเรื่องเดียวในชื่อ Rotkäppchen ไว้ในหนังสือรวมเรื่อง Kinder- und Hausmärchen โดยในฉบับนี้[2] คุณยายและหนูน้อย ได้รับการช่วยเหลือจากนักล่าหมาป่า และภายหลัง หนูน้อยและคุณยายก็ได้ใช้ประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนั้น ในการจับและฆ่าหมาป่าอีกตัวหนึ่ง

ในภายหลังพี่น้องทั้งสอง ได้ปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่อง จนเป็นฉบับปี ค.ศ. 1857 ที่เป็นเนื้อเรื่องที่แพร่หลายในปัจจุบัน[3] ซึ่งเนื้อเรื่องค่อนข้างจะมีจินตนาการสอดแทรกมากกว่าฉบับอื่น ๆ ที่ผ่านมา โดยทั้งหนูน้อยและคุณยายถูกหมาป่าจับกิน แต่ในภายหลังได้มีคนตัดไม้มาช่วย โดยการผ่าท้องหมาป่า ช่วยหนูน้อยและคุณยาย ออกมาได้อย่างปลอดภัย

ใกล้เคียง

หนูน้อยจอมซ่า มารุโกะจัง หนูน้อยหมวกแดง หนูน้อย กู้อีจู้ หนูน้อยจอมซ่า มารุโกะจัง (ละครโทรทัศน์) หนูน้อยคอมพิวเตอร์ หนูน้อยไอน์สไตน์ หนูน้อยชะตาปริศนา หนูบ้าน หนูท้องขาว หนูนา